10 เคล็ดลับสำหรับมือใหม่หัดขับ

10 เคล็ดลับสำหรับมือใหม่หัดขับ

การขับรถสำหรับมือใหม่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูง ในด้านอุบัติเหตุ ความประมาท และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้านกฏจราจรต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อให้ผ่านพ้นเวลาช่วงอันตรายนี้ไปได้ด้วยดี วันนี้ทาง Carsome จึงมี 10 เคล็ดลับสำหรับมือใหม่หัดขับ มาฝากซึ่งจะมีอะไรบ้างก็ไปติดตามกันได้เลยค่ะ

1.ทำความคุ้นเคยกับรถของคุณ

สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดของมือใหม่หัดขับก็คือ การทำความคุ้นเคยกับรถยนต์ของคุณให้มากที่สุด เพื่อให้คุณมีความมั่นใจและคุ้นชินกับรายละเอียดต่าง ๆ คุณจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับส่วนประกอบของรถในทีละขั้นตอนเพื่อให้เกิดความรู้ถึงข้อมูลพื้นฐานที่สิ่งเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอนาคต ให้การขับรถของคุณราบรื่นและรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น

2.ปรับระยะที่นั่งของตัวเบาะ และจัดตำแหน่งของพวงมาลัย

ก่อนที่จะสตาร์ตรถ ควรปรับระยะการนั่ง ปรับตำแหน่งพวงมาลัยรถยนต์ ให้เหมาะสม ซึ่งตามมาตรฐานการปรับตำแหน่งที่นั่ง ไม่ควรชิดหรือห่างจากพวงมาลัยมากเกินไป ตำแหน่งที่เหมาะสม ควรนั่งหลังชิดเบาะแล้วยืนแขนสองข้างไปด้านหน้า แล้ววางแขนทั้ง 2 ข้างไปบนพวงมาลัย ให้ตำแหน่งของพวงมาลัยอยู่ที่ข้อมือ จะเป็นตำแหน่งที่สามารถควบคุมพวงมาลัยได้ดีที่สุด รวมถึงการเช็กตำแหน่งเข่าที่ไม่ให้ยืดจนเกินไป เพื่อให้สามารถควบคุมคันเร่ง เบรก และคลัตช์ได้อย่างง่ายดาย

3.ปรับตำแหน่งกระจกมองหลัง และกระจกมองข้าง

ควรปรับให้มองเห็นภาพด้านหลังในมุมที่กว้าง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับขี่เห็นด้านข้างและด้านหลังครอบคลุม ส่วนกระจกมองข้างฝั่งซ้ายหรือฝั่งผู้โดยสารตอนหน้า ต้องปรับเช่นเดียวกับกระจกฝั่งคนขับ ซึ่งการปรับกระจกมองข้างทั้งสองด้านนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้เห็นตัวรถมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดจุดบอดในการมองเห็น ซึ่งก็คือ บริเวณพื้นที่ ที่ผู้ขับขี่ไม่สามารถมองเห็นด้วยสายตา เพราะมีสิ่งบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นรอบรถ

4.เคารพกฎจราจร

“กฎจราจร” เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวม การเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด จะทำให้เรามีความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมือใหม่หัดขับควรใส่ใจในรายละเอียด และเคารพกฏจราจรเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์

5.ไม่ควรเร่งความเร็วมากเกินไป

ในการขับรถสำหรับมือใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ อย่าเร่งความเร็วรถมากจนเกินไป เพราะความไม่ชำนาญในการขับรถยนต์ อาจจะทำให้สูญเสียการควบคุมเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วสูง แนะนำให้ขับตามความเหมาะสมและขับด้วยความเร็วที่แนะนำตามป้ายจราจรบนท้องถนนจะดีที่สุด

6.มองกระจกให้บ่อย

บ่อยครั้งที่มือใหม่หัดขับรถทั้งหลายทำการเปลี่ยนเลนขับรถโดยไม่ได้มองกระจกซ้ายขวา และข้างหลังให้ดีก่อน สุดท้ายก็จบลงที่การเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการมองกระจกนั้นถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับรถบนท้องถนน แต่ด้วยความมองยากของกระจกที่อยู่ไกลออกไป ทำให้หลายๆ คนไม่ใส่ใจ โดยเฉพาะเหล่ามือใหม่หัดขับรถที่ยังไม่ชินแนะนำว่าขณะขับรถให้พยายามมองกระจกบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย จะทำให้ความปลอดภัยในการขับรถของเราเพิ่มขึ้นอีกมากเลยทีเดียว

7.มุมอับสายตาต้องระวัง

อย่างที่รู้กันดีว่าภายในรถยนต์จะมีจุดอับสายตาในบางมุม สำหรับผู้ที่ขับรถเป็นประจำจะระมัดระวังในส่วนนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่สำหรับมือใหม่นั้นจะขาดความรอบคอบในส่วนนี้ ทำให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นของเหล่าผู้ที่หัดขับรถส่วนมากเกิดจากการเฉี่ยวชนที่มุมอับ ปัญหาในเรื่องของจุดอับสายตานั้นแก้ได้ค่อนข้างยาก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการเปิดไฟเลี้ยว และขับช้าๆ เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าไม่มีรถคันอื่นอยู่ในจุดอับสายตาอย่างแน่นอน หลังจากนั้นจึงค่อยทำการเลี้ยว

8.ฝึกใช้สัญญาณเตือนให้เป็น

การบีบแตร และการกระพริบไฟสูงนั้นเป็นเหมือนการสื่อสารเจรจากันอย่างง่ายๆ บนท้องถนน ซึ่งจะใช้ในกรณีต่าง ๆ เช่น การขอทาง เพื่อเป็นสัญญาณเตือนในมุมอับให้รถอีกคันที่มองไม่เห็นเรา โดยปกติแล้วสามารถใช้ได้ทั้งเสียงแตร และการกระพริบไฟสูง แต่การบีบแตรนั้นก็มีข้อจำกัดห้ามใช้ในบางสถานที่ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และวัด เพราะฉะนั้นพยายามใช้เพียงการกะพริบไฟสูง และใช้แตรให้น้อยที่สุดดีกว่าค่ะ

9.หัดใช้สติกเกอร์มือใหม่

สำหรับมือใหม่หัดขับรถหลายคนไม่กล้าที่จะติดสติกเกอร์มือใหม่หัดขับเอาไว้ที่รถ เนื่องจากรู้สึกเขินอาย แต่ขอแนะนำว่าให้ติดได้จะดีกว่าค่ะ เพราะสติกเกอร์มือใหม่หัดขับนั้นเป็นสัญลักษณ์เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่คนอื่นรู้ว่า เราคือมือใหม่ที่ยังขับรถไม่คล่อง ซึ่งรถคันอื่นจะได้ทิ้งระยะห่างเอาไว้เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากความไม่ชินด้านการขับขี่ของคุณด้วย

10.การรับมือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

สถานการณ์บนท้องถนนเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก  ถึงแม้ว่าจะขับอย่างระมัดระวังเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การตั้งสติรับมือกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นให้ทันท่วงที หากมีผู้บาดเจ็บให้รีบติดต่อเรียกรถพยาบาล หรือถ้าเป็นอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ก็รีบติดต่อกับประกันภัยให้เร็วที่สุด สำหรับมือใหม่หัดขับรถ

เคล็ดลับและเทคนิคสอบใบขับขี่สำหรับมือใหม่

เคล็ดลับและเทคนิคสอบใบขับขี่สำหรับมือใหม่

1.จองวันสอบก่อนล่วงหน้า

อันดับแรกให้เราติดต่อจองวันสอบได้ที่กรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะมีสำนักงานในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ 

สำนักงานขนส่งพื้นที่เขต 1 (บางขุนเทียน) , สำนักงานขนส่งพื้นที่เขต 2 (ตลิ่งชัน) , สำนักงานขนส่งพื้นที่เขต 3 (สุขุมวิท 62) , สำนักงานพื้นที่ขนส่ง เขต 4 (หนองจอก) และสำนักงานใหญ่พื้นที่ 5 (จตุจักร) ส่วนในเขตต่างจังหวัดก็สามารถหาจองได้ที่สำนักงานขนส่งต่างจังหวัดได้เช่นกันค่ะ ซึ่งมีวิธีจองง่าย ๆ ดังนี้ 

จองคิวอบรมด้วยตัวเองที่กรมขนส่ง (สาขาใกล้บ้านหรือตามสะดวก)

โทรจองคิวผ่านทางโทรศัพท์ เบอร์ 02-2718888 หรือเบอร์ 1584

ยื่นจองคิวสอบใบขับขี่รถยนต์ออนไลน์ได้ด้วย

จองคิวสอบใบขับขี่กับเอกชน (ที่ผ่านการรับรองจากกรมขนส่งทางบก)

** แนะนำให้รีบจองคิวตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะแต่ละพื้นที่จะมีคนเข้ามาติดต่อเยอะ หรือถ้าไม่สะดวกเข้าไปติดต่อ ก็สามารถจองผ่านระบบออนไลน์ได้เลย

2.นำเอกสารที่ต้องใช้ไปให้ครบ

เอกสารสำคัญเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะนั่นเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า คุณมีคุณสมบัติในการเข้าสอบใบขับขี่หรือไม่ เช่น อายุและสายตา เป็นต้น เราจะต้องยื่นเอกสารต่างๆ ให้กับทางเจ้าหน้าที่ในวันสอบจริง ซึ่งเอกสารที่เราจะต้องเตรียมสอบใบขับขี่ จะมีตามนี้

-บัตรประชาชนตัวจริง

-สำเนาบัตรประชาชน 1 ชุด

-ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 1 เดือน (จากคลินิก หรือโรงพยาบาลก็ได้)

-ใบรับรองการอบรม (กรณีอบรมนอกกรมขนส่ง)

** สำหรับชาวต่างชาติ (ไม่มีบัตรประชาชน) ให้ยืนใบสำคัญบัตรประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง Passport พร้อมสำเนาถูกต้อง หากเอกสารขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะไม่สามารถเข้าสอบได้นะครับ ดังนั้น อย่าลืมนำเอกสารที่จำเป็นไปให้ครบในวันสอบจริงด้วย

3.เตรียมร่างกายให้พร้อม

หลาย ๆ คนที่สอบใบขับขี่ไม่ผ่านนั้น อาจมีสาเหตุมาจากป่วยกะทันหันก่อนสอบ หรือบางคนก็นอนไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถใช้สมาธิสอบภาคปฏิบัติได้ ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมร่างกายให้ดีซะก่อน เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการดูแลตัวเองด้วย เพราะนอกจากนี้ก็จะมีให้ทดสอบสมรรถนะทางร่างกายด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็น ทดสอบการมองเห็น ทดสอบสายตาทางลึก ทดสอบสายตาทางกว้าง และทดสอบปฏิกิริยาเท้า

4. อ่านข้อสอบให้ชัวร์ ๆ 

เมื่อจะใกล้จะถึงวันสอบจริง ควรทำการทบทวนข้อสอบอีกครั้ง เพื่อทำให้เรามั่นใจและทำข้อสอบได้ผ่านชัวร์ ๆ โดยข้อสอบจะมีทั้งหมด 50 ข้อ แบบปรนัย และต้องทำให้ได้ 45 ข้อขึ้นไป ภายในระยะเวลา 60 นาที จึงถือว่าคุณสอบผ่านค่ะ หากใครที่กังวลก็สามารถทบทวนข้อสอบจากปีเก่า ๆ และทริคการทำข้อสอบเพื่อให้จำได้แม่นยำขึ้น

5.ฝึกท่าสอบปฏิบัติด้วย

สำหรับการสอบภาคปฏิบัติ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความยากในการสอบใบขับขี่ ซึ่งถ้าเราฝึกซ้อมมาก่อนก็จะช่วยทำให้เราสอบผ่านได้ง่าย และไม่ตื่นเต้นในวันสอบจริงอีกด้วย โดยการสอบปฏิบัติจะมีทั้งหมด 3 ท่า คือ

-ขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง เพียงให้เราเดินหน้ารถในระยะ 12 เมตร และถอยหลัง โดยห้ามขับชนหรือเบียดเสาเด็ดขาด ถ้าทำได้ก็ผ่านด่านต่อไปได้เลย

-ขับรถเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า ต่อมาจะเป็นท่าตกม้าตายง่ายสุด เพราะเราต้องเว้นระยะห่างให้พอดีกับทางจอดขนาน ห่างไม่เกิน 25 ซม. อีกทั้งล้อหน้าและล้อหลังต้องทับเส้นจอดด้วยนะ

ขับรถถอยเข้าซอง 

-ข้อนี้ถือว่าเป็นท่าสอบที่ยากที่สุด นั่นก็คือ ห้ามเปลี่ยนเกียร์เกินกว่า 7 ครั้ง โดยห้ามชนเสาหรือฟุตบาธเด็ดขาด และกระจกข้างต้องไม่เกินเส้นที่กำหนดไว้

6.อย่าลืมเตรียมรถไปสอบด้วย

ขอแนะนำให้เตรียมรถยนต์ของคุณเองในการเข้าสอบ เพราะจะได้คุ้นชินกับรถที่เคยขับ และซ้อมประจำแต่ถ้าใครที่ไม่มีรถของตัวเองแล้วอยากสอบใบขับขี่ ทางกรมการขนส่งทางบกแต่ละพื้นที่ จะมีรถให้เช่าขับด้วย โดยคิดราคาเช่ารอบละ 100 บาท มีให้เลือกทั้งสองแบบ ได้แก่ เกียร์ธรรมดา และเกียร์ออโต้คสามารถติดต่อในบริเวณพื้นที่เช่ารถสอบได้เลย แต่ข้อเสียของการเช่ารถของขนส่งกรณีที่เราไม่ได้เอารถมาเอง จะทำให้เรารู้สึกเกิดความประหม่าและสอบผิดท่าได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้รถเช่าจริงๆ หลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์ควรเช็กอุปกรณ์ในรถให้ดีก่อน จะได้คุ้นเคยกับตัวรถขณะสอบภาคปฏิบัติในวันจริง

** สำหรับคนที่เตรียมสอบใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ก็อย่าลืมนำหมวกกันน็อกไปด้วยนะคะ หรือถ้าใครไม่มีก็สามารถติดต่อขอเช่ากับทางสนามสอบได้เช่นกัน ซึ่งถ้าเราไม่มีหมวกกันน็อก ก็จะไม่มีสิทธิ์เข้าสอบภาคปฏิบัติ เพื่อขอใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์

7.เตรียมเงินค่าธรรมเนียมทำใบขับขี่

สุดท้ายแล้วในการเตรียมสอบใบขับขี่ ควรเงินสดติดตัวไปด้วยกรณีทำใบขับขี่ พอหลังจากเราทำข้อสอบภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีผ่านแล้ว ก็จะได้เอกสารไปทำใบขับขี่ (ชั่วคราว) ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมใบขับขี่แต่ละประเภทจะต่างกัน และจะมีค่าคำขอเพิ่มอีก 5 บาทด้วย ซึ่งเรทราคามีดังนี้

ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว อายุ 2 ปี ค่าธรรมเนียม 200 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 205 บาท

ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราว อายุ 2 ปี ค่าธรรมเนียม 100 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 105 บาท

ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล อายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 500 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 505 บาท

ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล อายุ 5 ปี ค่าธรรมเนียม 250 บาท + ค่าคำขอ 5 บาท รวมเป็นเงิน 255 บาท

** หรือใครที่อยากได้บัตรพลาสติกสำหรับใส่ใบขับขี่ ก็ให้เตรียมเงินอีก 100 บาท

 

นอกเหนือจากเคล็ดลับทั้งหลายสำหรับมือใหม่หัดขับที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ขอให้ทุก ๆ คน ขับรถอย่างระมัดระวังและมีสติ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุและสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ นอกจากนี้การเคารพกฏจราจรและมีวินัยก็จะช่วยให้คุณผ่านพ้นช่วงมือใหม่ได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ